Submitted by pattara
ความเดิมตอนที่แล้วเราได้พูดถึงสระ IH และ IY กันไป ผู้อ่านทุกท่านจำกันได้ขึ้นใจแล้วนะครับ ว่าสระสองตัวนี้มีเสียงยังไง
โดยที่เราได้ทำความคุ้นชินกับสัญลักษณ์บอกเสียงของเราไปแล้ว ตัวอย่างเช่น
SHIP (เรือ) เราจะเขียนคำอ่านว่า SH IH P
SHEEP (แกะ) เราจะเขียนคำอ่านว่า SH IY P
ทีนี้บางท่านซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Longdo Dict ก็อาจจะเคยเห็นสัญลักษณ์ทำนองนี้เวลาค้นหาศัพท์ โดยจะเป็นผลลัพธ์ในหมวดของ CMU English Pronouncing Dictionary ครับ ซึ่งสิ่งที่แสดงไม่ใช่ความหมายของคำศัพท์ แต่เป็นคำอ่านในรูปแบบที่เรากำลังเรียนรู้กันอยู่นั่นเอง ตัวอย่างเช่น CMU English Pronouncing Dictionary
EATING | IY1 T IH0 NG |
สังเกตว่า ถ้าเครื่องของท่านมีลำโพงหรือหูฟัง เมื่อกดตรงรูปเครื่องหมายวงกลมที่ด้านในมีลูกศร ก็จะได้ยินเสียงคำอ่านของคำนั้นๆ โดยจะเป็นเสียงที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยี text-to-speech synthesis ด้วยซอฟต์แวร์ชื่อ Festival ครับ (ดูรายละเอียดได้ในหน้าเกี่ยวกับลองดู) ซึ่งก็ถึงแม้จะไม่ชัดและไพเราะเท่ากับเสียงมนุษย์จริงๆ แต่ก็พอฟังแก้ขัดไปได้ครับ ตอนที่ยังจำอักษรเสียงอ่านไม่ค่อยได้ แต่หลังๆ รับรองว่าถ้าท่านอ่านอักษรเสียงอ่านนี้คล่องแล้ว ก็แทบจะไม่จำเป็นต้องกดฟังอีกต่อไป
ก็เหมือนอย่างเราคนไทย ถ้าสงสัยว่าคำหนึ่งๆ อ่านว่าอย่างไร เช่น กรมธรรม์ ถ้าได้คำตอบว่า อ่านว่า กรม-มะ-ทัน ก็ชัดเจนแล้วไหม จะมีสักคนไหมที่ต้องกดฟังเสียง
สำหรับภาษาอังกฤษเราก็กำลังจะค่อยๆ ไปสู่จุดนั้นเหมือนกันครับ แค่เห็นตัวคำอ่านก็เพียงพอแล้ว ซึ่งอย่างน้อยถึงตอนนี้เราก็ได้ สองตัวแล้วนะ คือ IH กับ IY แฮ่ๆ
เอาล่ะ ย้อนกลับมาเรื่องผลลัพธ์ที่ได้จาก Longdo Dict สำหรับคำว่า EATING ข้างต้น มีจุดสังเกตนิดนึงครับ
IY1 T IH0 NG
สังเกตว่ามันจะมีตัวเลขกำกับตามหลังสระด้วย แทนที่จะเป็น IY เฉยๆ มันเป็น IY1 ครับ แทนที่จะเป็น IH เฉยๆ กลับเป็น IH0 มันคืออะไร ไอ้ตัวเลข 0, 1, นี่ และบางทีอาจจะมี 2 ได้ด้วย
มันคือตัวระบุตำแหน่งการเน้นเสียง หรือที่เรียกกันว่า “stress” ในบางตำราเขาจะใช้ตัว ‘ เหนือตัวอักษรเป็นการเน้นว่าต้อง stress ตรงไหน เช่น ēt′iŋ หรือ it แต่ในบทเรียนของเรา เราจะใช้ตัวเลขนี้ครับ โดยที่ก็จะมีแค่ 3 ตัวเลข
- 0 หมายถึงไม่ stress
- 1 หมายถึง stress หนัก
- 2 (ถ้ามี) หมายถึง stress เบากว่า 1 แต่ดังกว่า 0
ส่วนใหญ่ก็จะมีแค่ 0 กับ 1 แต่บางคำ โดยเฉพาะคำยาวๆ มันจะมี 2 ด้วยครับ เช่น คำว่า individual ที่แปลว่า บุคคล/แต่ละบุคคล เป็นคำยาว ก็จะมีคำอ่านว่า
IH2 N D AH0 V IH1 JH AH0 W AH0 L
ซึ่งก็หมายความว่า ตำแหน่ง stress หลักจะอยู่ที่พยางค์ V IH1 แต่ตรง IH2 N เริ่มต้นก็ให้อ่านหนักกว่าตัวอื่นๆ ที่เหลือนิดหน่อยครับ
ผมเชื่อว่าพวกเราคงจะได้เคยเรียนกันมาแล้วถึงเรื่องการ stress เสียงของภาษาอังกฤษ แต่บางทีอาจจะลืมไป ไม่ได้ stress เวลาพูด กล่าวคือ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมาพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ เพราะภาษาไทยมันไม่มีการ stress
แต่สำหรับภาษาอังกฤษมันต้อง stress เสมอครับ ไม่งั้นมันจะถึงขั้นฟังไม่รู้เรื่องกันเลยทีเดียว การ stress สำคัญขนาดไหน สำหรับผม ตัวอย่างที่เห็นภาพสุดๆ … ก็คือ การลองให้ฝรั่งพูดภาษาไทยครับ!
ภาษาไทยมันไม่ต้อง stress แต่เมื่อฝรั่งเจ้าของภาษาอังกฤษจะต้องพูดภาษาไทย ด้วยสัญชาตญาณ เขาจะหาช่อง stress ให้ได้ครับ
ตัวอย่างเช่นคำว่า พัทยา หรือ สวัสดี คนไทยเราก็อ่านเรียบๆ พัด-ทะ-ยา, สะ-หวัด-ดี แต่ฝรั่ง
ถ้าไม่อ่านว่า พ้าาท-ทะ-ยะ ก็ ผัด-ท้า-อย่า, ไม่ ซ้า-วา-ดี่ ก็ สะ-หวะ-ดี….
ทีนี้กลับกัน เราก็ต้องพยายามเข้าใจนิดนึงครับ ว่าถ้าจะพูดภาษาอังกฤษให้ฝรั่งรู้เรื่อง พูดให้เต็มปากเต็มคำ มันก็ต้องรบกวนช่วย stress ให้เขานิดนึง
ซึ่งประเด็นมันก็อยู่แค่จะ stress ตรงตำแหน่งไหนเท่านั้นล่ะครับ
ซึ่งก็ไม่ได้ยาก ก็ดูตัวเลขเอา ว่ามัน 1 ตรงไหนก็ stress ตรงนั้น และถ้ามี 2 ก็เน้นตรง 2 ด้วยนิดนึง ตามตัวอย่างข้องต้น eating ต้อง stress ที่พยางค์แรกครับ เป็นอะไรประมาณ
IY1 T IH0 NG (อี๊ด-ติ่ง) ไม่ใช่ IY1 T IH1 NG (อี๊ด-ติ้ง) เน้นมันทั้งคู่เลยแบบไทย (ซึ่งพูดกับคนไ่ทยด้วยกันโอเคนะ แต่พูดกับต่างชาติ ช่วยเขานิดนึง)
meeting ก็ทำนองเดียวกันครับ ต้อง M IY1 T IH0 NG ไม่ใช่ M IY1 T IH1 NG มีท-ติ้ง
เอาล่ะครับ เรารู้วิธีการดูตำแหน่ง stress กันแล้วคราวนี้เรามาฟังเสียงตัวอย่างคำชุดของสระ IH-IY ที่เราได้ฝึกกันไปแล้วเมื่อคราวที่แล้วกันอีกครั้ง โดยคราวนี้ให้สังเกตตำแหน่ง stress ด้วยเวลาฟังด้วย และพูดตามให้ถูกต้องครับ โดยผมจะ list รายการคำอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมตำแหน่ง stress ล่ะ และนับแต่นี้เป็นต้นไปก็จะมีการแสดงตำแหน่ง stress เสมอครับ
จากตอนที่แล้วที่เราได้ อ.เดวิด อ่านออกเสียงคำต่างๆ ให้เราฟัง คราวนี้เราได้รับความอนุเคราะห์เพิ่มเติมจาก อ.แอนดรู (Mr.Andrew Chantra) จากเมือง Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา มาอ่านให้เราฟังด้วอีกแรงครับ ซึ่งประโยชน์อย่างยิ่งยวดสำหรับพวกเราก็คือ เราจะได้ฟังวิธีการพูดด้วยโดยคนอังกฤษ (อ.เดวิด) และคนอเมริกัน (อ.แอนดรู) ครับ ซึ่งเรียกได้ว่าสองสำเนียงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นหู้ และมีโอกาสได้ยินได้ฟังสูงสุด มันจะแตกต่างหรือเหมือนกันหรือไม่อย่างไร อยากให้ผู้อ่านลองค่อยๆ ฟังและเสนอความเห็นไว้ก็ได้นะครับ และในช่วงหลังๆ เราค่อยมาวิเคราะห์กันอีกทีและอีกประเด็น จำได้ไหมครับที่ผมเคยบอกว่าจะหลีกเลี่ยงการเขียนคำอ่านภาษาอังกฤษโดยการทับเสียงภาษาไทย (อย่างที่ทำข้างบนว่า อี๊ด-ติ่ง นี่ก็เผลอไป แต่เพื่อการอธิบายให้เห็นภาพ ไม่เป็นไรเนอะ) แต่จะพยายามใช้สัญลักษณ์อย่าง IH, IY มากกว่า ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็คือ ในหลายๆ กรณีมันไม่ตรงกับเสียงไทยซะทีเดียว บางทีบางสำเนียงอ่านแล้วฟังใกล้กับเสียงไทย แต่อีกสำเนียงไม่
และตอนนี้อยากให้ท่านลองฟังเสียง IH ที่ผมว่าคล้ายๆ สระอิ ของไทย แต่รบกวนท่านผู้อ่านลองฟังเสียงจากอาจารย์ทั้งสองท่านให้ดังๆ เต็มรูหู
แล้วถามตัวเองอีกครั้งว่า มันตรงกับสระ อิ ไทย เป๊ะไหม หรือมีเสียง เอะ ผสมด้วยเล็กน้อย? หรือมันยังไง??
ซึ่งที่ชี้ประเด็นดังนี้ มันก็ไม่ถึงกับว่าเราคนไทยจะต้องพูดสระ IH เหมือนฝรั่งเป๊ะๆ น่ะครับ คือมันก็ไม่ถึงกะจำเป็น เอาแค่ให้สื่อสารกันได้ พูดให้ถูกสระ และออกเสียงสระ ให้มันเห็นความแตกต่างชัดเจนกับสระอื่นๆ เขาก็ฟังรู้เรื่องแล้วล่ะครับ เพียงแต่อย่างน้อยอยากให้เรารู้และจับจุดตรงนี้ไว้ ว่าไอ้ที่ว่าเหมือนมันก็ไม่ถึงกับเหมือนซะทีเดียว และต้องเอาให้ได้แบบว่า
พูดไม่เหมือนก็รู้อยู่ แต่พูดไ่ม่ผิดและพูดอย่างเต็มปากเต็มคำก็แล้วกัน!
เอาล่ะมาดูรายการคำ และฟังเสียง อ.ทั้งสองท่านกันดีกว่าครับ
IH-IY ชุดที่ 1
คำ | คำอ่าน | ความหมายช่วยจำ | คำ | คำอ่าน | ความหมายช่วยจำ |
---|---|---|---|---|---|
bit | B IH T | สิ่งเล็กๆ น้อยๆ, บิต | beat | B IY T | ทุบ, ตี, เอาชนะ |
it | IH T | มัน (สรรพนามบุรุษที่ 3) | eat | IY T | กิน |
fit | F IH T | พอดี เหมาะสม | feet | F IY T | เท้า |
hit | H IH T | ตี | heat | H IY T | ความร้อน |
lid | L IH D | ฝาหม้อ | lead | L IY D | นำ |
ship | SH IH P | เรือ | sheep | SH IY P | แกะ (สัตว์) |
อ. เดวิด อ. แอนดรู
IH-IY ชุดที่ 2
คำ | คำอ่าน | ความหมายช่วยจำ | เพิ่มเติม |
---|---|---|---|
sea | S IY | ทะเล | |
see | S IY | มอง | อ่านเหมือนกับ sea แหละครับ ไม่ได้แตกต่างอะไร! |
seize | S IY Z | จับกุม | ลงท้ายด้วยเสียง “Z” |
believe | B IH0 L IY1 V | เชื่อ | คำนี้บางทีอ่าน B AH0 L IY1 V ลองฟัง อ.แอนดรู |
deceive | D IH0 S IY1 V | หลอกหลวง | คำนี้บ้างทีอ่าน D AH0 S IY1 V เช่นกัน |
naive | N AY2 IY1 V | ไร้เดียงสา | |
BBC | B IY2 B IY0 S IY1 | สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ | |
between | B IY0 T W IY1 N | ระหว่าง | บ้างอ่าน B AH0 T W IY1 N |
receipt | R IY0 S IY1 T | ใบเสร็จรับเงิน | **** อ้ะ อ้ะ ระวัง คำนี้คุณอ่านเป็น รี ซีบ หรือเปล่า?*** |
receive | R IY0 S IY1 V | รับ | ต่างจาก receipt แค่ลงท้ายด้วยเสียง V แทน T |
release | R IY0 L IY1 S | ปล่อย | สังเกตว่า สระเสียงยาวก็จริง แต่ฟังแล้วมันสั้นๆ ไหม |
relieve | R IY0 L IY1 V | ผ่อนคลาย | เห็นได้ชัดว่าเสียงยาวกว่า release ไหม |
retrieve | R IY0 T R IY1 V | เอาคืนมา ดึงมา | เสียงยาว |
reveal | R IY0 V IY1 L | เปิดเผย | เสียงยาวหรือสั้น? |
leading | L IY1 D IH0 NG | ชั้นนำ | |
feeding | F IY1 D IH0 NG | การให้อาหาร |
อ. เดวิด อ. แอนดรู
ในตอนนี้เราก็ได้เรียนรู้ถึงการ stress และวิธีการอ่านสัญญลักษณ์แสดงตำแหน่ง stress นะครับ และเราก็ได้ฝึกสระ IH-IY กันอีกครั้ง ด้วยตัวอย่างเสียงจากทั้งชาวอังกฤษ และชาวอเมริกัน และผมได้ชี้จุดสังเกตไว้ว่าสระของฝรั่งถึงจะคล้ายเสียงไทยแต่บางทีก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ยังไงให้ใช้สัญญลักษณ์ IH-IY เสมอ อย่าถอดเป็นเสียงไทย
พบกันใหม่ตอนต่อไป