หมออะไรนะคะ?

เราต่างก็เคยสงสัย เวลาที่เราอ่านข่าว เรามักเจอชื่อหมอที่ไม่คุ้นเคย มักจะเป็นศัพท์ยาก ๆ ที่เราไม่เคยเข้าใจ

Doctor

แท้จริงแล้วชื่อหมอหรือสาขาวิชาประเภทต่าง ๆ มักจะตั้งด้วยคำบาลีหรือสันสกฤต ตัวอย่างชื่อหมอหรือศาสตร์ที่เราไม่คุ้นกันก็อย่างเช่น

  • ทันตแพทย์ [ทัน-ตะ-แพด] (Dentist) : ใคร ๆ ก็รู้จักอาชีพ หมอฟัน บางทีก็เรียกทันตแพทย์กันจนเป็นปกติ ทันต- เป็นคำบาลีที่มีความหมายว่า ฟัน, งาช้าง ทันตแพทย์จึงมีความหมายว่า หมอฟัน
  • วิสัญญีแพทย์ [วิ-สัน-ยี-แพด] (Anesthesiologists) : ถ้าใครที่ไม่เคยมีญาติพี่น้องที่เข้ารับการผ่าตัดอาจไม่รู้หมอท่านนี้ วิสัญญี เป็นคำบาลีที่แปลว่า หมดความรู้สึก, สิ้นสติ, สลบ ดังนั้น วิสัญญีแพทย์จึงหมายถึง แพทย์ผู้ชำนาญการวางยาสลบหรือยาชา
  • ตจแพทย์ [ตะ-จะ-แพด] (Dermatologist) : คำนี้ไม่ค่อยคุ้นเคยกัน ตจ- เป็นคำบาลีที่มีความหมายว่า ผิว เปลือก ดังนั้น ตจแพทย์จึงหมายความว่า แพทย์ผิวหนัง
  • คัพภวิทยา [คับ-พะ-วิด-ทะ-ยา] (Embryology) : นี่คือศาสตร์อย่างหนึ่งที่นักศึกษาแพทย์เกือบทุกคนต้องเรียน คัพภ- เป็นคำบาลีที่มีความหมายว่า ครรภ์ ห้อง ตัวอ่อน ทารกในครรภ์ ศาสตร์คัพภวิทยานี้จึงหมายความว่า วิชาที่ศึกษาการเจริญของเอ็มบริโอ (ตัวอ่อน)
  • มิญชวิทยา [มิน-ชะ-วิด-ทะ-ยา] (Histology) : อีกศาสตร์หนึ่งที่ศึกษาเรื่องเนื้อเยื่อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ มิญช มีความหมายว่า เยื่อ แก่น หรือเมล็ด เมื่อรวมกันจึงได้ความหมายว่า วิชาที่ศึกษาเนื้อเยื่อ
in ER room

มีสองสาเหตุที่เราคาดว่าแพทยสภาเลือกใช้คำจากบาลี-สันสกฤตมาตั้งชื่อบุคลากรและการแพทย์เฉพาะทาง

สาเหตุที่แพทย์เฉพาะทางใช้ชื่อศาสตร์ด้วยคำบาลี-สันสกฤตเนื่องจากภาษาดังกล่าวมีระเบียบในบัญญัติศัพท์อย่างชัดเจนไม่ลักลั่น เหมือนกับศัพท์ทางการแพทย์ในภาษาอังกฤษที่ใช้ภาษาละตินในการบัญญัติศัพท์นั่นเอง
อย่างต่อมา เพราะความที่ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน เช่นเดียวกับภาษาตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ กล่าวคืออยู่ในตระกูลเดียวกัน ชื่อทางการแพทย์ในภาษาบาลี-สันสกฤตที่เรียกก็ดูคล้ายกันกับศัพท์ในตะวันตกด้วย เช่นชื่อการแพทย์เฉพาะทางอย่าง ปรสิตวิทยา ที่ใช้คำอังกฤษว่า Parasitology พอดูคล้ายกันเราจึงปรับมาใช้ให้เรียกได้ง่ายทั้งไทยและอังกฤษ

ด้วยเหตุเหล่านี้เองน่าจะเป็นเหตุผลที่แพทยสภาเลือกใช้คำจากภาษาบาลี-สันสกฤตมาตั้งให้กับบุคลากรทางแพทย์และศาสตร์ทางการแพทย์ แต่ท้ายที่สุดแล้วเพื่อความถนัด เราคงไม่มาพูดชื่อเต็มในตำแหน่งต่าง ๆ หมอก็มักจะเรียกแพทย์แต่ละสาขาต่างกันไป เช่น

  • ศัลยแพทย์ : มักถูกเรียกว่า หมอศัลย์
  • อายุรแพทย์ : มักถูกเรียกว่า หมอเมด (med)
  • ตจแพทย์ : มักถูกเรียกว่า หมอเดอร์มาโต หรือ หมอผิวหนัง
  • วิสัญญีแพทย์ : มักถูกเรียกว่า หมอวิสัญญี หรือ หมอดมยา
  • สูตินรีเวช : มักถูกเรียกว่า หมอสู

คุณหมอคิดแบบนั้นไหมคะ?


ศัพท์จากบทความ

  • Dentist (n) ทันตแพทย์, หมอฟัน
  • Anesthesiologists (n) วิสัญญีแพทย์
  • Dermatologist (n) ตจแพทย์, หมอโรคผิวหนัง
  • Embryology (n) คัพภวิทยา, การศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตและพัฒนาการของตัวอ่อนของมนุษย์
  • Histology (n) มิญชวิทยา, วิทยาเนื้อเยื่อ
  • ทันต-, ทันต์ น. ฟัน, งาช้าง
  • วิสัญญี ว. หมดความรู้สึก, สิ้นสติ, สลบ.
  • ตจ- น. หนัง, เปลือกไม้.
  • คัพภ-, คัพภ น. ครรภ์, ท้อง, ห้อง.
  • มิญช- น. เยื่อ, แก่นหรือเมล็ด.

Loading

Leave a Reply