พูดอังกฤษเต็มปากเต็มคำ ตอนที่ 1 sorry อะไรนะ

Submitted by pattara

ท่านเคยเกิดอาการพูดภาษาอังกฤษไม่เต็มปากเต็มคำไหมครับ? อาการมันจะเกิดเวลาเจอคำศัพท์จำพวกสกัดดาวรุ่ง ที่ตัวสะกดก็แทบจะจำไม่ได้อยู่แล้ว หรือ แม้กระทั่งศัพท์พื้นๆ ที่เราคิดว่าน่าจะอ่านถูกแล้ว แล้วก็พูดออกไป ด้วยความมั่นใจเต็มร้อย

แต่ทันใดนั้นคู่สนทนาของเราก็เกิดอาการ ขมวดคิ้วเล็กๆ หยุดคิดนิดนึง แล้วก็บอกว่า

Sorry? (อะไรนะ) 🙁

เอ้อ ตูว่าก็พูดไปชัดอยู่นะ hmm I mean ….. 

คู่สนทนายังคงคิ้วขมวด เอียงคอเล็กน้อย เห็นได้ชัดว่ากำลังใช้สมองทุกส่วนเพื่อประมวลผลว่าไอ้หมอนี่มันพยายามพูดอะไรกันแน่ และสุดท้ายก็อาจจะช่วยเดาว่าเราพูดถึงสิ่งนี้ใช่มั้ย ก็สื่อสารกันไปได้ ตามประสาคนไทยเรามีความกล้าพูด จะผิดจะถูกก็ขอให้สื่อสารกันได้ไว้ก่อน ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่ดีนะไม่ใช่ไม่ดี

แต่มันจะดีกว่านี้ไหม

ถ้าเราพูดอะไรออกไปแล้ว เป็นคำอ่านที่ถูกต้อง ฝรั่งหรือชาวต่างชาติสามารถเข้าใจได้ทันที ถึงแม้จะฟังออกว่าเป็นสำเนียงของชาวต่างชาติ แต่ก็เป็นการพูดที่ถูกต้อง ก็ดูอย่าง คนอินเดีย คนสิงค์โปร์ คนอังกฤษ คนอเมริกัน พูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษต่างกันคนละสำเนียง แต่ก็สื่อสารกันได้เข้าใจ มันไม่ใช่เรื่องของการกระแดะทำสำเนียงอะไรนะครับ ประเด็นของเราคือ จะพูดยังไงให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนเรื่องความสละสลวยของสำเนียงนั้นเป็นเรื่องรอง และคิดว่าถ้าเราคนไทยจะพูดอังกฤษติดสำเนียงไทย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนคนไทยภาคต่างๆ เวลาพูดกลางแล้วติดสำเนียงท้องถิ่นของตนเอง มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ผมกลับเห็นว่าน่าภูมิใจเสียอีก แค่ขอให้พูดจาให้ถูกละกัน

ซึ่งการพูดให้ถูกเนี่ย จริงๆ แล้วแทบจะเรียกได้ว่าเป็นขั้นแรกสุดของการเรียนภาษาหรือเปล่า

มาดูภาษาไทยกันดีกว่า แน่นอนพวกคำง่ายๆ ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง มันพื้นฐาน แล้วอย่างคำพวกนี้ล่ะ

ธรรมะ, จุฬาลงกรณ์, กรกฎาคม, พฤษภาคม, สวรรค์วิถี

ถามว่าทำไมเราคนไทยจึงอ่านได้ ในขณะที่คนต่างชาติที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาไทยอาจจะสะดุดเล็กน้อย

เราอ่านได้ก็เพราะเรารู้ว่าเสียงอ่านของคำเหล่านั้นเป็นอย่างไร

ธรรมะ เราอ่านว่า ทำ-มะ เรารู้ว่า ร เรือ สองตัวในที่นี้ให้เสียงเหมือนไม้หันอากาศ และมีตัวสะกดเป็น ม ม้า จึงอ่านว่า ทัม ไม่ได้อ่านว่า ทัน-มะ หรือ ทอน-ระ-มะ

ฬ จุฬา เรารู้ว่าอ่านเหมือน ล ลิง

กรกฎาคม เรารู้ว่าอ่านว่า กะ-ระ-กะ-ดา-คม ไม่ใช่ กะ-รก-ดา-คม หรือ กอน-กะ-ดา-คม

ฯลฯ

เรารู้เพราะเราเคยเรียนมาว่ามันต้องอ่านแบบนี้ เราเคยได้ยินว่าเขาพูดกันแบบนี้

มีภาษาหลายๆ ภาษาในโลกครับ ที่คำอ่านนั้นตายตัว เมื่อดูจากการสะกดก็สามารถรู้ได้เลยว่าต้องอ่านอย่างไร เช่น ภาษาเยอรมัน เขียนอย่างไรก็อ่านอย่างนั้น, กรณียกเว้นก็คงมีบ้าง แต่ว่าก็น้อย อาจจะไปยากตรงการออกเสียงบางเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย ต้องห่อปาก ต้องกัดฟันอะไรก็ว่ากันไป อย่างไรเอาเป็นว่าภาษาในลักษณะนี้ เรารู้ละกันว่าต้องอ่านอย่างไร จะไม่มีกรณีอะไรทำนอง กรกฎาคม ข้างต้น

แต่ว่าภาษาอังกฤษนั้นตรงกันข้ามเลยครับ เรียกได้ว่าหนักยิ่งกว่าภาษาไทยซะอีก

คำหลายๆ คำสะกดด้วยสระเดียวกัน แต่อ่านคนละเสียงกัน หรือ เสียงเดียวกัน แต่สะกดไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น

sea, see, seize, believe, deceive, naive

คำเหล่านี้ประกอบด้วยสระเสียง อี ทั้งหมด แต่ดูจะเห็นว่า ในการเขียนมีทั้งกรใช้ ea,ee, ei, eh, ie, ei, i แล้วอ่านออกเสียงเป็นเสียงสระ อี

ดังนั้นมันไม่มีกฎตายตัวครับว่า ถ้าเสียง อี จะต้องเขียนด้วยสระอะไร และกลับกัน ถ้าเขียนว่า ea มันจะต้องออกเป็นเสียง อี เสมอหรือไม่

แล้วมีหลักยังไงที่จะดูว่าคำนี้ออกเสียงยังไง

คำตอบ คือ

ไม่มีหลักการใดๆ ตายตัวครับ

มันไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่มีสูตรคำนวณ มันต้องเกิดจากการเรียนรู้จำ+เปิดพจนานุกรมเท่านั้น จึงจะรู้ ถ้าใครบอกว่าสูตรที่ฟันธงได้ โดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม เชื่อได้เลยว่า สูตรมั่ว

ถึงตรงนี้หลายท่านคนนึกออกแล้วว่า บทความนี้จะกล่าวถึงอะไร ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงการทำความเข้าใจ pronounciation guide หรือ คำแนะนำคำอ่านของคำ ซึ่งในพจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษ ทั้งหลายมีเกือบจะทั้งหมด โดยมักจะนำเสนอด้วอักษรรูปร่างประหลาด ที่เราเรียกว่า สัทอักษร นั่นเอง ซึ่งหลายท่านโดยใช้ท่านที่ศึกษาในแขนงภาษาศาสตร์อาจจะคุ้นชินผ่านตามาบ้างแล้ว อาจจะเข้าใจวิธีการอ่านสัทอักษรเหล่านี้

แต่ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านยังไม่เคยเรียน เหมือนผม ที่เพิ่งที่จะได้รู้เรื่องนี้ก็เมื่อจบปริญญาตรีไปจะสิบปีแล้ว ทั้งๆ ที่จะว่าไป นี่ป็นเรื่องพื้นฐาน ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องไวยากรณ์ เรื่อง tense เรื่องอะไรอื่นๆ ซะอีก

หรือ อาจจะเคยแต่คืนอาจารย์ไปหมดแล้ว

เพราะมันยาก สัทอักษรแต่ละตัวก็หน้าตาไม่คุ้นชิน จำไม่ไหว ได้แค่ใส่ไว้ใน short-term memory เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้จะมาเปิด lecture เรื่องสัทศาสตร์หรือการอ่านสัทอักษรกัน ณ ที่นี้ และตัวผู้เขียนเอง ก็ต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่คนที่พูดภาษาอังกฤษดีเด่อะไร อีกทั้งไม่เคยใช้ชีวิตอยู่นานๆ ในประเทศที่พูดภาษาเป็นอังกฤษเป็นภาษาแม่ด้วย ดังนั้นไม่อยู่ในสถานะที่ี่จะสั่งสอนหรือให้ข้อมูทางวิชาการในด้านภาษาแต่อย่างใด และผมเชื่อว่าตำราในลักษณะเชิงวิชาการในเรื่องนี้ก็น่าจะมีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้วครับ ถ้าท่านสนใจหาซื้อได้ไม่ยาก

แต่งานนี้ผมแค่อยากจะถ่ายทอดความรู้จากสิ่งที่เีรียนมาจาก อ. ชาวอังกฤษ ท่านหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน และ ผมเชื่อว่าในฐานะที่เป็นคนไทย ผ่านการศึกษาไทยในโรงเรียนไทยๆ มาโดยตลอด น่าจะมีความเข้าใจในปัญหาด้านภาษาของคนไทยในเมืองไทยไม่มากก็น้อย กล่าวคือ ไม่เหมือนกับท่านที่โตในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะพูดได้โดยธรรมชาติเลย จึงอาจจะมองข้าม shot ปัญหาพื้นฐานที่คนไทยที่ผ่านระบบการศึกษาและสภาพแวดล้อมในเมืองไทยประสบอยู่ จึงขออาสาตัวในครั้งนี้

โดยเราจะไปกันแบบลูกทุ่ง เราจะว่ากันด้วยภาษาง่ายๆ

อาจจะถูกหรือผิด ขัดต่อหลักทางวิชาการบ้างหรือเปล่าไม่แน่ใจ

แต่ผมหวังว่าถ้าเราไปกันแบบง่ายๆ ตอนละนิดตอนละหน่อย และนำเสนอในแบบให้จดจำได้ง่าย ไม่ต้องหลักการมาก สุดท้าย น่าจะทำให้ท่านได้เรียนรู้และนำไปใช้ได้มากกว่าการสอนเชิงวิชาการซึ่งอาจจะทำให้ท่านเบื่อไปซะก่อน

แต่หากมีข้อผิดพลาดประการใด เชิญแนะนำติชมใน comment ได้เลยนะครับ เราไปกันเป็นทีละตอนๆ สั้นๆ อยู่แล้ว มีอะไรที่ปรับปรุงได้ก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

พบกันใหม่ตอนต่อไป

See you!

(S IY1 Y AH)

😀

แก้ไข 1: ลบคำว่า Lehman ออกจากตัวอย่างกลุ่มคำที่มีเสียง อี เนื่องจาก เป็นชื่อคนเลยอาจมีวิธีการออกเสียงแตกต่างกันไป ถึงแม้จะออกเสียงอีก็ได้ แต่ก็อาจไม่เสมอไป

Loading

Leave a Reply