การใช้ Articles (A, An, The) ฉบับย่อ แล้วจะเห็นว่าจริงๆแล้วทั้งสามตัวใช้ง่ายขนาดไหน

Submitted by EnglishParks

‘A’, ‘An’, ‘The’ สามองค์ประกอบในภาษาอังกฤษที่เราแสนจะคุ้นหน้าคุ้นตา ที่ปฏิเสธกันไม่ได้เลยว่า “ไม่เคยเรียนเลยสามตัวนี้” แต่ทำไมหนอ คนไทยเรามักใช้สามตัวนี้แบบผิดๆ
A และ An ยังถือว่าค่อนข้างง่าย เมื่อใดที่ใช้ผิด หรือเขียนตกไป อาจเป็นเพราะหลงลืมเป็นครั้งคราว แต่การใช้ The ของคนไทยแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ

1. ใช้ The นำทุกคำที่เป็นคำนาม โดยหวังว่า “ถ้าไม่ถูก..ครูบาอาจารย์ก็คงลบออกให้เอง”

2. เมื่อ The มันใช้ยากนัก ก็ไม่ใช้มันเสียเลย…หมดเรื่อง

ลองอ่านวิธีการใช้ Articles (A, An, The) ฉบับย่อด้านล่างนี้ แล้วจะเห็นว่าจริงๆแล้วทั้งสามตัวใช้ง่ายขนาดไหน

1. A ใช้นำคำนามนับได้ที่เป็นเอกพจน์ โดยเราไม่ต้องสนใจไปเจาะจงว่าหมายถึง”อันนี้” “คนนั้น” “ตัวโน้น”

เช่น ถ้าลูกชายของคุณมารบเร้าว่า “Dad, I want to see a real-life panda.” นั่นหมายความว่า ลูกชายแค่ต้องการจะเห็นหมีแพนด้าตัวเป็นๆ คุณสามารถจะพาเขาไปดู”หลินปิง”ที่เชียงใหม่ หรือจะพาบินไปประเทศจีนเลยก็ได้ ค่าเท่ากัน หมีแพนด้า(ตัวเดียวเป็นเอกพจน์)เหมือนๆกัน

2. An ใช้เหมือนกับ A ทุกอย่าง เพียงแค่ใช้แทน A เพื่อนำหน้าคำนามเอกพจน์ที่ขึ้นต้นด้วยสระ และออกเสียงสระ หรือขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แต่ออกเสียงสระก็ได้ เช่น

An umbrella:    umbrella ขึ้นต้นด้วย u เป็นสระ และออกเสียง “อัม” ซึ่งมาจากการผสมตัว u กับ m

An hour:          hour ขึ้นต้นด้วย h เป็นพยัญชนะ แต่ออกเสียง “อาวร์” ซึ่งมาจากตัว o, u, และ r

A university:    university ถึงแม้จะขึ้นต้นด้วย u แต่ออกเสียง “ยู” ซึ่งเป็นเสียงของตัว y และ u(หรือ oo)

3. The ใช้ได้กับคำนามทั้งเอกพจน์ และพหูพจน์ ทั้งที่นับได้ และที่นับไม่ได้ โดย The ไม่ได้บอกเราว่าคำนามนั้นๆมีจำนวนเท่าไหร่ เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ นับได้หรือนับไม่ได้The ทำหน้าที่คล้ายๆกับ This, That, Those, These โดยเป็นตัวชี้เฉพาะไปที่”อันนี้” “คนนั้น” “สิ่งโน้น” ดังนั้นเราจะสามารถใช้ The ได้ก็ต่อเมื่อ “เรารู้ว่าผู้ฟังเข้าใจตรงกันกับเรา ว่าเราหมายถึง “อันไหน” “คนไหน” “สิ่งไหน” หากว่าเราคิดว่าผู้ฟังเข้าใจไม่ตรงกัน เราไม่สามารถใช้ The ได้”

เช่น ถ้าคุณและลูกชายกำลังนั่งดู”หลินปิง”ทางโทรทัศน์ แล้วลูกชายของคุณหันมาบอกว่า “Dad, I want to feed thepanda.” นั่นหมายความว่า ลูกชายของคุณต้องการจะไปให้อาหารหมีแพนด้าตัวนั้นที่เขาดูอยู่ในโทรทัศน์ ซึ่งก็คือ “หลินปิง” ไม่ได้หมายถึงตัวอื่นๆอีกหลายตัวที่เหมือนๆกัน แต่อาศัยอยู่ในประเทศจีน

Loading