จากแอปพลิเคชันหาเพื่อนกินข้าว ที่มีคนพูดถึงกันอย่างวงกว้างถึงการที่ “แอปล่ม” บนโลกโซเชียลเมื่อต้นปีอย่าง EatMatch เมื่อเราได้ยินเกี่ยวกับบริการดีๆ แบบนี้แล้ว เราเลยอดไม่ได้ที่จะติดต่อและพูดคุยกับผู้ก่อตั้งทั้งสองอย่าง มิ้น เลิง และ ธาย เลิศวิชัยวรวิชย์ ว่ากว่าจะมาลงตัวกับบริการเพื่อคนเหงาอย่างเราแล้ว พวกเขาได้ผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง
อะไรที่มาจุดความคิดให้เริ่มพัฒนา EatMatch
มิ้น: จากเดิมทีเราเป็นแอปท่องเที่ยว สำหรับให้นักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่นมานัดเจอกันเพื่อจะไปกินข้าวด้วยกัน อย่างมิ้นและพี่ธายจะชอบไปที่ๆ เรามีคนรู้จักที่นั่นอยู่แล้ว พอไปในประเทศที่เราไม่รู้จักหรือไม่มีเพื่อน เราก็จะรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกที่ยังเที่ยวไม่ได้อย่างท้องถิ่นแท้ๆ เท่าไหร่ อันนั้นคือจุดเริ่มต้นเลย
อย่างที่สังเกตว่าเรามีการพลิกเปลี่ยนจากโปรดักต์ท่องเที่ยวมาเป็นแอปหาเพื่อนกินข้าวแทน เราเปลี่ยนมาทำแบบนี้แทนเพราะว่า หนึ่ง-เราเริ่มจะเห็นคนไทยหาเพื่อนคนไทยด้วยกันเองไปกินข้าวด้วยกัน ซึ่งเป็นเหตุผลหลัก เมื่อเราประกาศออกไปว่าเราเป็นแอปหาเพื่อนกินข้าว เราเห็นว่ามันมีอะไรตรงนั้น ก็เลยปรับเปลี่ยนเป็นไอเดียนี้เมื่อต้นปีว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนต่างชาติกับคนไทย เป็นคนไทยกับคนไทยก็ได้เหมือนกัน
พอมาเจอโควิด เราก็รู้เลยว่านี้เป็นการปรับเปลี่ยนที่ถูกต้อง ตอนนี้เราก็เลยเป็นแอปหาเพื่อนกินข้าว หาเพื่อนแชร์โปรดีๆ อย่างเช่น มาสี่จ่ายสาม อย่างบางคนมีเพื่อนไม่ครบก็มาหาเพื่อนบนนั้นได้ หรือบางคนที่เหงาไม่ชอบกินข้าวคนเดียว กินข้าวคนเดียวสั่งหลากหลายไม่ได้ก็เข้ามาใช้แอปเราหาเพื่อนกินข้าวได้
ธาย: ก่อนที่เราจะเปลี่ยนมาทำแอปอันนี้ เรามีจุดนึงที่เรามีนักท่องเที่ยวกับคนไทยไม่พอดีกัน มีช่วงหนึ่งที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของแพลตฟอร์ม เป็นคนไทยที่หาเพื่อนกินข้าวเป็นคนไทยด้วยกัน และมีการแฮ็กระบบให้เจอกับคนไทยด้วยกัน ไม่ใช่คนต่างชาติ คือตอนนั้นมีคนไทยอยู่ 6,000 กว่าคน แล้วชาวต่างชาติแทบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นจุดที่ทำให้เราเปลี่ยนมาเป็นไอเดียนี้
เราใช้เวลาสองอาทิตย์ในการเปลี่ยน เพราะโลกของสตาร์ตอัป คือการหา traction ให้เร็วที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด พอเราทวีตขึ้นไปว่าเปลี่ยนไปทำแอปหาเพื่อนกินข้าวแล้ว ชื่อ EatMatch สองอาทิตย์หลังจากเปิดตัวเป็นโปรดักต์ใหม่แล้ว คนเข้ามา 40,000 คน เราติดอันดับหนึ่งของแอปทั้งหมดใน App Store ประเทศไทย ซึ่งเรามาถูกทาง เราเปลี่ยนเพราะว่าคนต้องการค่อนข้างสูง ด้วยความไวรัลมากๆ บวกกับเราใช้เวลาพัฒนาแค่สองอาทิตย์ เหมือนเราทำ mvp ขึ้นมาดูความต้องการตลาด กลายเป็นว่าแอปพัง เซิร์ฟเวอร์ล่ม แล้วคนก็บ่นว่ามันใช้ไม่ได้ มันก็เลยมีคนให้ความสนใจเข้ามาอีกว่า มันคือแอปอะไร ทำไมคนพูดถึงเยอะว่ามันล่ม
แก้สถานการณ์ขณะนั้นยังไง
ธาย: เราแก้ไม่ทันเพราะโควิดมาและมีการล็อกดาวน์
มิ้น: ตอนที่มันล่ม เราใช้เซิร์ฟเวอร์ไทยที่ค่อนข้างช้าและรับปริมาณคนได้ยังไม่มากพอ คืนนั้นเราเลยเปลี่ยนไปใช้เซิร์ฟเวอร์ของ Amazon แทน ซึ่งก็ดีขึ้นมีความลื่นไหลขึ้น สามารถรับปริมาณคนได้มากขึ้น อย่างที่พี่ธายบอกโควิดมา เริ่มมีล็อกดาวน์ เราก็โดนกระทบจริงๆ เพราะผู้ใช้ออกไปกินข้าวไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราได้ใช้เวลาตรงนั้นพัฒนา ทำแพลตฟอร์มขึ้นให้รองรับ Android และสามารถรับผู้ใช้ได้เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ทำอะไรทำนองนี้มาก่อนหรือเปล่า
ธาย: เคยทำแอปแต่งภาพมาก่อนชื่อ Tinkys ซึ่งเป็นแอปที่อยู่ในระดับที่โอเค มีคนใช้ประมาณสองล้านคน
มิ้น: มิ้นเคยทำการตลาดที่เกี่ยวกับอาหาร เริ่มที่ Uber Eats ที่ฮ่องกง ตั้งแต่ Uber Eats ยังไม่มี และได้ทำการตลาดให้เครือร้านอาหารที่มี 40 สาขาทั้งในไทย จีน และมาเก๊า
เป้าหมายและแพลนในอนาคตของ EatMatch
มิ้น: ตอนนี้เราอาจจะเป็นแค่แอปหาเพื่อนกินข้าวเฉยๆ แต่เราเชื่อว่ามันเป็นได้มากกว่านั้น เราสามารถ หนึ่ง-ช่วยคุณหาเพื่อนกินข้าวได้ สอง-ช่วยคุณหาร้านดีๆ ในแถวที่คุณเลือกออกไปกินกับเพื่อนคนนั้นได้ สาม-เราอยากจะนำโปรดีๆ ของร้านอาหารเข้ามาให้กับผู้ใช้ การกินเป็นแค่จุดเริ่มต้นของแอปเรา เพราะทุกคนต้องกินทุกวัน มันมี use case (การใช้งาน) มากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนจะใช้แอปเราหาเพื่อนดูหนัง ไปคอนเสิร์ต ไปเล่นเซิร์ฟหรือเวคบอร์ด หรือว่าไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ได้เหมือนกัน เป็นเหมือนจุดรวมของคนที่ต้องการหาเพื่อนทำกิจกรรมด้วยกัน
ธาย: แต่ก็คืออยู่ในแนวที่ว่า ประโยชน์ของมันไม่ได้อยู่แค่ที่คุณมีเพื่อนไป แต่ว่าคุณได้ส่วนลดที่พิเศษกับ EatMatch ด้วย
ในอนาคตจะเห็น EatMatch จับมือร่วมกับคนอื่นด้วยใช่ไหม
มิ้น: คิดว่าเป็นไปได้สูง อย่างวงการร้านอาหารก็มีโปรมาสี่จ่ายสามเยอะแล้ว แต่นั่นอาจจะปรับไปใช้กับอย่างอื่นได้ อย่างไปดูหนัง ไปเล่นเลเซอร์แท็กแบบมาสี่จ่ายสาม แต่ทางเราสนับสนุนให้คนออกไปหาอะไรกินหาอะไรเล่นแบบเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มากกว่า เพราะร้านก็จะได้ลูกค้ากลุ่มใหญ่และผู้ใช้ก็จะได้ส่วนลดมากกว่า
ถ้าไทยกลับมารับนักท่องเที่ยว ทางเราจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรให้นักท่องเที่ยวใช้ได้ด้วยไหม
มิ้น: ตอนนี้ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญหลัก เพราะด้วยโควิดจึงทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่เยอะเท่าแต่ก่อน ดังนั้นเราก็จะเน้นตลาดคนไทยมากกว่า แต่พอทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมแล้ว เราก็ต้อนรับอยากให้คนต่างชาติมารู้จักกับวัฒนธรรมไทยจากคนไทยจริงๆ
- ขอบคุณทุกคนที่อ่านน้า ถ้ามีข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำอะไร ติดต่อมาได้ที่นี่เล้ย [email protected]
- นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรายังมีเรื่องอื่นของสัปดาห์นี้อีกนะ
- ยังไม่พอใช่ไหม? ไปดูคอนเทนต์รายสัปดาห์อื่นๆ ของเรากันที่นี่สิ ?
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.